ประวัติความเป็นมา
สำนักวิจัย ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2509 พร้อม ๆกับการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและดำเนินการวิจัยทางสังคมศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพัฒนา ประเทศ โดยเล็งเห็นว่าภาระที่สำคัญประการหนึ่ง ของสถาบันการศึกษา คือ การวิจัย ผลงานวิจัยจะช่วยให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้น หรือเกิดการนำทฤษฎีที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ อันจะเกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอน และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศต่อไป
ปรัชญา
ดำเนินงานโดยมุ่งเน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และยึดมั่นในคุณธรรม จรรยาบรรณการวิจัย เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นผู้นำในการวิจัยด้วยการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
วิสัยทัศน์
สำนักวิจัยได้กำหนดวิสัยทัศน์ ดังนี้ “มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัยในระดับประเทศและระดับภูมิภาค”
พันธกิจ
สำนักวิจัยได้กำหนดภารกิจหลัก 6 ด้าน คือ
1. การผลิตผลงานวิจัยทางด้านพัฒนบริหารศาสตร์
2. การประสานงานส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยทั้งภายในและภายนอกสถาบัน
3. การบริการวิชาการ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผลงานวิจัย และงานวิชาการอื่นที่เกี่ยวข้อง
4. จัดทำวารสารทางวิชาการของสถาบัน รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำวารสารภายในสถาบัน
5. การเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนวิจัยของสถาบัน
6. ปฏิบัติภารกิจตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย
นโยบาย
สำนักวิจัยเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุนให้คณาจารย์ นักวิชาการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย และเผยแพร่ผลงานสู่การนำไปใช้ประโยชน์
วัตถุประสงค์
สำนักวิจัยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานดังนี้
1. ส่งเสริมให้คณาจารย์ นักวิชาการของสถาบันได้มีการทำวิจัยประเภทต่าง ๆ ทั้งการวิจัยประเภทพื้นฐานและการประยุกต์โดยการสนับสนุนจากกองทุนงานวิจัยของสถาบันงบประมาณแผ่นดินและเงินสนับสนุนจากแหล่งภายนอก เพื่อพัฒนาให้การวิจัยเป็นภารกิจที่สำคัญของสถาบัน
2. ส่งเสริมให้มีการทำวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางนโยบายและการปฏิบัติให้เกิดผลดีแก่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยให้สถาบันมีส่วนร่วมในการชี้นำ แก้ปัญหาหรือหาแนวทางในการพัฒนาชุมชนและประเทศในระดับต่าง ๆ
3. สนับสนุนให้มีการทำวิจัยที่เป็นโครงการของสถาบันที่ให้บุคลากรจากคณะและสำนักต่าง ๆ มาร่วมกันดำเนินงาน
4. ส่งเสริมให้มีการบริการทางวิชาการแก่บุคลากรภายในและภายนอกสถาบัน
5. พัฒนาประสิทธิภาพการจัดการบริหารของสำนักวิจัย การพัฒนาบุคลากร และการนำเทคโนโลยีด้านสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติงาน